Monday, July 11, 2016

Butter Cookies : การทำคุกกี้ คุกกี้เนยสด

Butter Cookies



การทำ Butter Cookies คุกกี้สูตรอร่อย
คุกกี้เนยสด

11 กรกฏ 2559
13:21
คุกกี้เนยสด


คุกกี้เนยนั้นมีอยู่มากมายหลายสูตร ทั้งสูตรฉ่ำเนย สูตรนิ่ม สูตรกรอบ ก็ว่ากันไป วันนี้ขอเสนอสูตรกรอบแต่ไม่กรอบแข็งนะคะ ทำง่ายๆ แต่จะอร่อยแค่ไหน ไม่ได้อยู่ที่สูตรเพียงอย่างเดียว ปัจจัยอื่นๆ เช่น วัตถุดิบที่ใช้ ขั้นตอนการทำ การอบ การเก็บ ก็สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน


สูตรเด็ดเคล็ด (ไม่) ลับ

  • ใช้วัตถุดิบที่ดี เช่น ไข่ไก่สดใหม่ ใช้เนยสดแท้ 
  • ไม่ตีครีมแรงเกินไปหรือฟูเกินไป (เนย+น้ำตาล+ไข่)
  • ใส่แป้งแล้วห้ามตีนาน (จะได้คุกกี้เหนียวๆ หนืดๆ แทน)
  • อากาศร้อนต้องระวัง อากาศร้อนจะทำให้เนยละลาย จะกดให้ขึ้นรูปไม่ได้ (ดังตอนท้ายฝันต้องเอามาปั้นก้อนกลมแทน เพราะไม่สามารถใช้ที่กดกดให้เป็นรูปร่างได้)
  • ถาดที่ใช้อบต้องเย็น หรือไม่เหลือความร้อนอยู่เลย
  • วอร์มอุณหภูมิเตาอบให้ได้ที่ดีเสียก่อน

Butter Cookies คุกกี้สูตรอร่อย
คุกกี้เนยสดหน้าช็อกโกแลตชิพ


สูตรคุกกี้เนยสดสูตรกรอบ

ส่วนผสม สำหรับคุกกี้ประมาณครึ่งกิโลกรัม (ขนาดตามรูป ประมาณ 80 ชิ้น)

แป้งสาลีอเนกประสงค์250 กรัม
วานิลลาผง (ไม่ใส่ก็ได้)1ช้อนชา
ผงฟู3/4ช้อนชา
เบกกิ้งโซดา 1/2 ช้อนชา
น้ำตาลทรายไอซิ่ง 130 กรัม
ไข่ไก่ 1 ฟอง
เนยสดชนิดจืด (ใช้เค็มลดเกลือ) 150 กรัม
เกลือป่น 1/4 ช้อนชา
ช็อกโกแลตชิพ (แต่งหน้าตามชอบ) 1 ช้อนชา


*สูตรนี้จะไม่หวานมาก ชอบหวานเติมน้ำตาลสัก 10-20 กรัม
*สูตรนี้จะกรอบพอประมาณ ถ้าชอบกรอบมากให้อบสองรอบ (อบรอบแรกแค่พอสุก ระวังไหม้ด้วย อบรองสองอบไฟต่ำ 150 องศาเซลเซียส ประมาณ 5 นาที
*อยากได้กร๊อบกรอบ เปลี่ยนเป็นแป้งขนมปัง
*ปรับเป็นรสชาติอื่นๆ ได้ เช่น ทำเป็นคุกกี้ช็อกโกแลตชิพ ลูกเกด ผลไม้รวม ฯ
เตรียม ผสม อบ และการเก็บ

  • เตรียมเตาอบตั้งอุณหภูมิประมาณ 170-175 องศาเซลเซียส ไฟบน-ล่าง พัดลม
  • เตรียมถาดอบ รองกระดาษรองอบ (Parchment Paper)แช่ตู้เย็นไว้ได้ยิ่งดี
  • ร่อนแป้งกับของแห้งทุกอย่าง ยกเว้นน้ำตาลไอซิ่ง พักไว้
  • เนยสดใช้แบบที่นุ่มแล้ว แต่ยังมีความเย็นอยู่ ตีเนยสดกับเกลือป่นพอเนยกระจายตัวไม่จับก้อนแข็ง
  • เติมน้ำตาลไอซิ่งลงไปตีกับเนยสด ด้วยความเร็วปานกลาง (ใช้วิธีเติมน้ำตาลไอซิ่งทีละน้อย จะทำให้น้ำตาลละลายและเป็นครีมเร็วกว่าใส่ทีละมากๆ)
  • ตีจนเนยมีสีอ่อนลง กระจายตัวดี ไม่ต้องฟูมาก น้ำตาลไม่จำเป็นต้องละลายหมด
  • ใส่ไข่ลงไปตีด้วยความเร็วปานกลาง ตีพอเข้ากัน (ถ้าใช้ไข่มากกว่า 1 ใบ ควรใส่ไข่ทีละฟอง)
  • ใส่แป้งลงไปครึ่งหนึ่ง ตีพอเข้ากัน ใส่ทีเหลือ ตีพอเข้า ปาดโถ
  • คนส่วนผสมพอเข้ากันดี ไม่มีผงแป้งเหลืออยู่ 
  • ตักใส่ที่กดคุกกี้เพื่อขึ้นรูป หรือใช้สกูปตักไอศกรีมตักเป็นลูกๆ ก็ได้ 
  • วางเรียงบนถาดโดยเว้นระยะห่างอย่างน้อย 1 นิ้วเพื่อให้มีพื้นที่ขยายตัว
  • แต่งหน้าตามชอบ
    การทำ Butter Cookies คุกกี้สูตรอร่อย
    การอบคุกกี้ควรมีระยะห่าง ไม่วางชิดติดกัน
  • การอบคุกกี้ระยะเวลอบขึ้นอยู่กับขนาดของคุกกี้ ฝันอบประมาณ 8 -10 นาทีในรอบแรก จากนั้นนำออกมาพักบนตะแกรง แล้วอบรอบสองด้วยไฟ 150 องศาเซลเซียสอีก 5 นาที (สามารถอบเพียงรอบเดียวได้ โดยเพิ่มเวลาอบอีกเล็กน้อย และควรปรับลดอุณหภูมิในช่วงท้ายของการอบด้วยเพื่อป้องกันคุกกี้มีสีเข้มเกินไป)
    การทำ Butter Cookies คุกกี้สูตรอร่อย
    การอบรอบสอง ใช้ไฟอ่อน ไม่จำเป็นต้องวางห่างกัน
  • การเช็คสุกคุกกี้ดูที่สีของคุกกี้ โดยเฉพาะตรงก้นถ้ามีสีเหลืองแสดงว่าคุกกี้สุกใช้ได้ (ยกเว้นการอบคุกกี้ชิ้นหนาๆ ด้วยไฟแรงมากๆ ด้านนอกอาจสุกก่อนด้านใน - หากคุกกี้ชิ้นหนาควรลดอุณหภูมิเตาอบลง และเพิ่มระยะเวลาการอบให้นานขึ้นอีกหน่อย)
  • การนำออกจากถาด ให้ใช้ที่ตักแบนๆ แซะออกเบาๆ และวางพักไว้บนตะแกรง
  • การเก็บคุกกี้ควรเก็บขณะที่คุกกี้มีความอุ่นอยู่เล็กน้อย ถ้าอุ่นมากไปจะเกิดความชื้นขณะเก็บได้ แต่ถ้าเก็บตอนเย็นสนิทเลย คุกกี้จะดูดความชื้นเข้าไปไว้ ทำให้หายกรอบได้เร็ว

เรื่องน่ารู้

  • ควรเก็บคุกกี้ในภาชนะที่ปิดสนิทเช่นในกล่องล็อก หรือในถุงที่ซีลปากถุง จะเก็บรักษาความกรอบไว้ได้นาน
  • อายุการเก็บรักษา ดีที่สุดคือรับประทานภายใน 2-3 วันแรก รสชาติและสัมผัสจะดีที่สุด สามารถเก็บไว้ได้กว่าสองสัปดาหในภาชนะที่ปิดสนิท การแช่ตู้เย็นจะช่วยรักษาความกรอบไว้ได้นานขึ้น หากอยากเก็บไว้นานๆ ให้แช่ช่องแข็ง สามารถเก็บได้นานหลายเดือน 
  • ถ้าหากไฟในเตาอบไม่สม่ำเสมอ เมื่ออบไประยะหนึ่งพอสีด้านหนึ่งเข้มขึ้น ส่วนอีกด้านสีอ่อน สามารถเปิดเตาอบเพื่อสลับถาดได้
  • สูตรนี้เนื้อจะไม่ค่อยเหลว ถ้าใส่ถุงบีบ จะบีบยากมาก หากต้องการใส่ถุงบีบ ควรเติมนมสดหรือนมข้นจืดลงไปเล็กน้อย ระหว่างขั้นตอนผสมแป้ง เพื่อให้เหลวขึ้น แต่การใส่นมอาจทำให้คุกกี้จืดได้ ควรเพิ่มน้ำตาลสัก 10 กรัม (ในระหว่างขั้นตอนการตีเนยกับน้ำตาล)
  • จากสูตร เนยสดชนิดจืด หากเปลี่ยนเป็นชนิดเค็ม อาจตัดเกลือออกหรือลดเกลือลงครึ่งหนึ่ง หากใช้มาร์การีนให้ตัดเกลือทิ้งไป
  • ถ้าต้องการเพิ่มรสชาติอื่นๆ ในเนื้อคุกกี้ เช่นใส่เม็ดมะม่วงหิมพานต์ อัลมอนด์ ลูกเกด ช็อกโกแลตชิพ ฯ ให้ใส่ลงไปในขั้นตอนสุดท้าย โดยคนพอเข้ากันทั่ว แต่วิธีนี้จะใส่ถุงบีบหรือที่กดคุกกี้ไม่ได้ ต้องใช้ที่ตักไอศกรีมหรือใช้ช้อนตักขึ้นรูปแทน
    การทำ Butter Cookies คุกกี้สูตรอร่อย
    ลาด้วยดอกไม้คุกกี้ที่สวยเป็นบางอันนะคะ
    สูตรถัดไป (รออัพ)

    ขนมไข่

    สโคน


    ขอให้มีความสุขกับคุกกี้ฝีมือตัวเองนะคะ

    แต่ถ้าขี้เกียจทำเอง Order มาก็จัดให้ค่ะ จะสูตรอื่นๆ สูตรไหนๆ เค้าก็ทำให้ได้หมดน๊า






    Saturday, July 9, 2016

    Basic Baking - อบขนมอย่างไรไม่ให้เสีย (1)

    Basic Baking

    การอบขนม การเตรียมเตาอบ การเช็คสุก


    9 กรกฏ 2559
    12:47

    อบขนมอย่างไรไม่ให้เสีย (1)

    การอบขนมให้ได้ผลดี ควรที่จะอ่านทบทวนหลายๆ ครั้ง จนเข้าใจขั้นตอนการทำเป็นอย่างดี รวมทั้งสามารถเตรียมงานเป็นขั้นเป็นตอนได้อย่างถูกต้อง

    ขั้นตอนความสำเร็จ
    การอ่านสูตรให้ถี่ถ้วน
    การเตรียมพิมพ์ให้เหมาะสม
    การเตรียมเตาอบให้พร้อม
    การเตรียมวัตถุดิบ
    การชั่งตวงให้ถูกต้อง
    การอ่านสูตร
    การอ่านสูตรและวิธีการทำเป็นสิ่งแรกที่ผู้ทำขนมควรทำความเข้าใจให้ถูกต้อง โดยเฉพาะมือใหม่ การทำให้ได้ผลดีที่สุด คือทำตามสูตรทุกประการ หรือหากต้องการปรับส่วนไหนก็ให้เป็นไปตามสูตรการทดแทน (Substitutes)
    การเตรียมพิมพ์ขนม
    • การเตรียมพิมพ์ควรใช้พิมพ์ตามที่สูตรระบุ หากมีการเปลี่ยนพิมพ์ที่ใช้ ก็อาจจะต้องมีการปรับอุณหภูมิและเวลาในการอบด้วยเช่นกัน
    • เลือกใช้พิมพ์ให้เหมาะสมกับชนิดของขนม
      • คัพเค้กในถ้วยกระดาษ หรือกระทงจีบ ให้นำไปใส่ในพิมพ์จีบหรือพิมพ์มัฟฟิน เตรียมไว้ และไม่ควรวางชิดติดกันเกินไป ขนมจะสุกไม่ทั่วถึง
      • คัพเค้กในถ้วยคัพเค้กเคลือบ หรือถ้วยปาเน็ตโทน สามารถนำเข้าเตาอบได้เลย โดยเรียงไว้บนถาดอีกที และไม่ควรวางชิดติดกันเกินไป ขนมจะสุกไม่ทั่วถึง
      • การเตรียมพิมพ์กลม ให้ทาไขมันรอบพิมพ์ จากนั้นโรยแป้งสาลีที่ใช้ทำขนมให้ทั่ว เคาะเศษแป้งที่เหลือออกไป หรือทาไขมันรอบพิมพ์แล้วปูด้วยกระดาษรองอบทับโดยรอบอีกที (ยกเว้นการทำชิฟฟอนไม่ต้องทาไขมัน ถ้ากลัวติดให้ทาไขมันแล้วรองกระดาษรองอบที่ก้นเท่านั้น
      • การเตรียมถาดเหลี่ยม ให้ทาบกระดาษรองอบกับก้นถาด แล้วพับลงไปด้านล่างเพื่อหาความสูง แล้วตัดกระดาษตามรอยที่ทาบไว้ จากนั้นทาไขมันที่ถาดโดยรอบ กรุก้นถาด แล้วพับหรือตัดมุมให้กระดาษพอดีกับถาด
      • การทำชิฟฟอนที่มีสัดส่วนของเหลวมากกว่า 60% ควรอบในพิมพ์ปล่อง เพราะจะสุกทั่วถึงกว่าพิมพ์ปกติ
      • การอบคุกกี้ให้ทาไขมันแล้วปูกระดาษรองอบทับที่ก้นถาด โดยถาดที่ใช้จะเป็นถาดก้นตื้น ถ้าไม่มีให้อบทางก้นถาดแทน
      • การเตรียมพิมพ์บราวนี่ ให้ใช้ฟอยล์หรือกระดาษรองอบปูโดยเผื่อขอบขึ้นมาสูงกว่าขอบถาด เพื่อสามารถยกขึ้นออกจากถาดได้ง่าย
      • คุกกี้ เลือกใช้พิมพ์สูงประมาณ 1 นิ้ว
      • บราวนี่ เลือกใช้พิมพ์สูงประมาณ 1-1.5 นิ้ว
      • ชิฟฟอนสามเหลี่ยม ใช้ถาดสูงประมาณ 1.5 นิ้ว
      • เค้กถาดใช้ถาดสูงประมาณ 2 นิ้ว
      • แยมโรลใช้ถาดสูงประมาณ 1.5 นิ้ว
    • การอบรองน้ำ คือการนำถาดหรือพิมพ์ขนมที่จะอบไปวางไว้ในถาดที่ใส่น้ำไว้เพื่อป้องกันก้นขนมไหม้ ใช้สำหรับขนมบางประเภทที่ต้องการรักษาลักษณะของส่วนที่อยู่ก้นถาดไว้ เช่นเค้กสังขยา คัสตาร์ดเค้ก Upside-down Cake และเค้กฝอยทองเป็นต้น
    • การอบรองกระดาษหนังสือพิมพ์หรือกระดาษอเนกประสงค์ เป็นการปรับเอาวิธีอบรองน้ำมาใช้โดยใช้กระดาษชุบน้ำรองพิมพ์ขนมอีกที
    • การอบหล่อน้ำ เป็นการเพิ่มไอน้ำในเตาอบเพื่อรักษาความชุ่มชื้นให้ขนม โดยการนำน้ำใส่ภาชนะทนความร้อนวางไว้ในเตาอบ
    • ข้อควรระวังในการอบรองน้ำคือ การอบรองน้ำอาจส่งผลให้หน้าขนมแฉะได้ และการอบขนมบางชนิดก็ไม่เหมาะกับอบแบบรองน้ำ เพราะอาจทำให้เนื้อขนมด้าน หรือแตกตรงกลางได้ เช่นบัตเตอร์เค้ก หรือการอบขนมโดยใช้ไฟบนร่วมด้วย
    การเตรียมเตาอบ และการอบ การเช็คสุก
    • ควรวอร์มเตาอบก่อนอบจริงอย่างน้อย 15-20 นาที หรือจนได้อุณหภูมิที่ต้องการ
    • อุณหภูมิที่เหมาะสมในการทำเบเกอรี่ทั่วไป คือ 350° F หรือประมาณ 175-180° C แต่ทั้งที่ก็ขึ้นอยู่กับเตาอบของแต่ละบ้านด้วยที่อาจจะต้องใช้อุณหภูมิที่ต่ำกว่าหรือสูงกว่าที่กำหนดเล็กน้อย
    • การอบขนมที่มีขนาดเล็กหรือแบน เช่นคุกกี้มักใช้อุณหภูมิสูง เพื่อให้สุกเร็วและรักษารูปร่างของคุกกี้ไม่ให้เสีย
    • การอบชูครีมหรือเอแคลร์จะใช้อุณหภูมิที่สูงมาก ประมาณ 200-220° C ในการอบเพื่อให้ขนมขึ้นฟูและไม่แบน จากนั้นจึงค่อยลดอุณหภูมิลงเหลือ 180-190° C
    • การอบบัตเตอร์เค้กหรือเค้กเนยที่ผสมด้วยวิธีการตีครีม (Creaming Method) ในพิมพ์โลฟหรือพิมพ์บัตเตอร์ซึ่งจะสูงกว่าพิมพ์ทั่วไป จึงใช้เวลาอบนาน ดังนั้นต้องลดอุณหภูมิเตาอบลงเหลือประมาณ 150-160° เท่านั้น
    • ควรมีที่วัดอุณหภูมิในเตาอบ นอกเหนือจากตัวตั้งอุณหภูมิที่ติดมากับเตาอบ เพราะอุณหภูมิที่ตั้งกับอุณหภูมิที่แท้จริงในเตาอบอาจไม่ตรงกันได้
    • การวางขนมในเตาอบ โดยปกติควรวางตรงกลางเตาอบ เพื่อป้องกันขนมอยู่ชิดขอบเตามากเกินไปจะทำให้ไหม้ได้ง่าย แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความร้อนภายในเตาอบด้วย เพราะหากไฟบนแรงกว่าไฟล่าง ก็ควรขยับลงมาข้างล่างมากหน่อย แต่ถ้าไฟล่างแรงก็อาจขยับขึ้นบน
    • โดยปกติการอบขนมทั่วไปจะใช้ไฟบน-ล่าง เช่นคุกกี้ บราวนี่ คัพเค้ก 
    • การอบเค้กควรใช้ไฟล่างเพียงอย่างเดียวก่อน ขนมจึงจะไม่แตกตรงกลาง ถ้าใช้ไฟล่างแล้วหน้าขนมสีซีดเกินไปให้ปรับเป็นไฟบน-ล่าง หรือไฟบนในช่วงท้ายของการอบ
    • หากอบขนมมากกว่า 1 ชั้น ควรเปิดพัดลมร่วมด้วย เพื่อกระจายความร้อนให้ทั่วถึง
    • การเปิดพัดลมในเตาอบอาจมีผลให้อุณหภูมิสูงขึ้นด้วย ดังนั้นหากทำให้ขนมเกิดสีเร็วเกินไป ควรปรับลดอุณหภูมิลงประมาณ 10 องศาเซลเซียส
    • ถ้าหากความร้อนในเตาอบไม่เท่ากัน อาจเปิดเตาเพื่อสลับถาดขนมเพื่อให้สีขนมสม่ำเสมอ (ควรเปิดหลังจากที่ขนมมีโครงสร้างที่ดีแล้ว)
    • ขณะอบไม่ควรเปิดเตาอบจนกว่าขนมจะมีโครงสร้างที่ดีแล้ว ไม่เช่นนั้นจะทำให้ขนมยุบและไม่ขึ้นฟูได้
    • การเช็คขนมสุก บางครั้งเราจะใช้เวลาตามสูตรระบุเลยไม่ได้ เพราะเป็นไปได้ว่าขนมอาจสุกเร็วหรือช้ากว่าที่สูตรระบุได้ การอบขนมไว้นานเกินไป หรือเอาออกจากเตาเร็วเกินไป ก็เป็นสาเหตุให้ขนมสูญเสียลักษณะที่ดีได้ เช่น ไหม้ ขม ร่อน หดจากพิมพ์ ขนมยุบ เนื้อขนมหยาบ ร่วน แห้งเกินไป
      • เบื้องต้นสังเกตจากการขึ้นของขนม เช่นเค้กจะฟูขึ้นจนเต็มพิมพ์ คุกกี้จะมีขนาดใหญ่ขึ้น เอแคลร์จะฟูสวย แตก 
      • จากนั้นดูสีของขนม สีจะเริ่มเหลืองเข้มขึ้น (ยกเว้นรสช็อกโกแลตที่สีเข้มอยู่แล้ว อาจสังเกตสีได้ยาก)
      • กลิ่นหอมเตะจมูก เมื่อขนมสุกจะให้กลิ่นออกมาค่ะ จากนั้นเฝ้าเตาได้เลย
      • หากเป็นเค้ก สังเกตขอบขนม จะดูคล้ายเนื้อจะหดเข้าไปเล็กน้อย
      • อาจเคาะเตาอบเบาๆ เพื่อสังเกตการกระเพื่อมของขนม โดยเฉพาะตรงกลางถ้ายังไม่สุกจะมีการสั่นไหว
      • ถ้าเราสังเกตอาการเบื้องต้นแล้วค่อนข้างแน่ใจว่าขนมน่าจะสุกแล้ว ให้เปิดเตาเช็คสุกด้วยวิธีการดังนี้
        • สำหรับชิฟฟอนเค้กและสปันจ์เค้ก ให้ใช้นิ้วมือแตะลงตรงกลางเค้ก หากสุกแล้วเนื้อเค้กที่ยุบลงไปตามแรงกดจะเด้งตามมือขึ้นมา ให้นำออกมาเคาะกับพื้นเบาๆ สักครั้งสองครั้งเพื่อปรับโครงสร้างไม่ให้ยุบตัวลงได้ง่าย ถ้าเค้กไม่เด้งขึ้นมา ให้รีบปิดฝาเตาอบ อบต่อทันที
        • สำหรับบัตเตอร์เค้กให้เช็คสุกด้วยการใช้ไม้ปลายแหลมหรือที่เช็คสุก จิ้มลงตรงกลางเนื้อเค้ก ถ้าไม่มีเศษเค้กติดปลายไม้ขึ้นมาแสดงว่าสุกแล้ว ให้นำออกจากเตามาพักบนตะแกรงทันที
        • สำหรับบราวนี่ทำวิธีเดียวกับบัตเตอร์เค้ก แต่จะมีเศษเค้กติดขึ้นมาบ้าง (แต่ไม่ได้เป็นน้ำแฉะๆ) แสดงว่าสุกใช้ได้แล้ว ให้รีบนำออกมาพักบนตะแกรงทันที เพราะหากอบนานเกินไปเนื้อบราวนี่จะหยาบ ร่วน แข็ง หรืออาจขมได้
        • การเช็คสุกคุกกี้ให้ดูที่ก้นขนม ถ้าก้นสีสวยสุกดี ก็นำออกได้เลย
    อ่านต่อบล็อกหน้าค่ะ
    การเตรียมวัตถุดิบ

    การชั่งตวงให้ถูกต้อง


    ป้องกันโหลดบล็อกนาน ยกการเตรียมวัตถุดิบและการชั่งตวงไปบล็อกหน้านะคะ






    Thursday, July 7, 2016

    น้ำหนักไข่ไก่ เบอร์ไหน ใช้แทนกันได้ไหม และการแปลงเป็นหน่วยกรัม


    คราวก่อนเราแนะนำวิธีการเลือกซื้อ เลือกดูไข่ไก่สดๆ ใหม่ๆ ไว้ใช้ในงานเบเกอรี่กันไปแล้ว คราวนี้มาขยายความเรื่องการใช้ไข่ไก่ในสูตรเบเกอรี่กันบ้างนะคะ


    ไข่ไก่ในตำรับเบเกอรี่ ไข่เบอร์ต่างๆ

    บางตำราจะบอกขนาดของไข่ไก่ไว้ว่าใช้เบอร์อะไร เราก็ใช้ตามนั้น โดยส่วนใหญ่ที่ใช้กันก็จะเป็นไข่ไก่เบอร์ 2 เบอร์ 1 และเบอร์ 0 แต่ถ้าเราหาไข่ไก่ขนาดตามสูตรไม่ได้ล่ะ จะใช้เบอร์อื่นแทนได้ไหมนะ?


    ต้องตอบว่าแล้วแต่ค่ะ บางสูตรก็ใช้แทนได้ บางสูตรใช้แล้วก็เพี้ยนไปเลยเช่นกัน อย่างเช่นเอแคลร์หรือชูครีมการใส่ไข่ไก่สำคัญมาก เช่นสูตรระบุให้ใช้ไข่ไก่เบอร์ 2 สัก 6 ฟอง แต่ถ้าเรามีแต่เบอร์ 0 ถ้าใส่หมดเลย 6 ฟองส่วนผสมก็อาจเหลวเกินไปได้ (การใส่ไข่ในแป้งชูส์มีรายละเอียดมาก ขอไม่กล่าวถึงในที่นี้นะคะ)

    เรามาแปลงไข่เป็นน้ำหนักกรัมกันค่ะ ขอยกเฉพาะเบอร์ไข่ไก่ที่นิยมใช้กันเท่านั้นนะคะ

    เราจะใช้น้ำหนักรวมของไข่ขาวและไข่แดง ไม่รวมเปลือกไข่ (เปลือกไข่หนักประมาณ 7 กรัม)

    ส่วนไข่แดงส่วนใหญ่จะหนักประมาณ 15-17 กรัม ที่เหลือจะเป็นน้ำหนักไข่ขาว ซึ่งจะหนักกว่าไข่แดงกว่าสองเท่า

    ไข่ไก่เบอร์ 0 น้ำหนักประมาณ 65-70 กรัม (65)
    ไข่ไก่เบอร์ 1 น้ำหนักประมาณ 57-62 กรัม (60)
    ไข่ไก่เบอร์ 2 น้ำหนักประมาณ 52-55 กรัม (55)
    ไข่ไก่เบอร์ 3 น้ำหนักประมาณ 50 กรัม (50)
    ไข่ไก่เบอร์ 4 น้ำหนักประมาณ 45 กรัม (45)


    เราจะเห็นได้ว่าขนาดของไข่เบอร์ 1 และเบอร์ 2 นั้นค่อนข้างจะใกล้เคียงกันมาก ถ้าใช้ปริมาณไม่มาก ส่วนใหญ่ก็ใช้แทนกันได้ค่ะ

    หากต้องการแปลงไข่เป็นหน่วยกรัมเพื่อใช้แทนกัน สามารถใช้หน่วยกรัมในวงเล็บในการแปลงสูตรได้เลยค่ะ เช่น สูตรระบุให้ใช้ไข่ไก่เบอร์ 0 จำนวน 5 ฟอง จะใช้ไข่ประมาณ 325 กรัม ถ้าเรามีไข่ไก่เบอร์ 2 เราต้องใช้กี่ฟอง ก็ตั้ง 325/55 จะได้ผลลัพธ์ 5.9 ฟอง ซึ่งใกล้เคียง 6 ฟอง ดังนั้นถ้าเราใช้ไข่เบอร์ 2 จำนวน 6 ฟองจะได้น้ำหนักประมาณ 330 กรัม ซึ่งใกล้เคียงกันมาก จึงใช้แทนกันได้เลย ดีกว่าการใช้เพียง 5 ฟอง ซึ่งจะได้น้ำหนักรวมประมาณ 275 กรัมเท่านั้น เห็นไหมว่าการแปลงน้ำหนักไข่มีประโยชน์แค่ไหน ถ้าเราใช้ไข่ที่น้ำหนักน้อยกว่าหรือมากกว่าสูตรในปริมาณที่มาก เช่น ½ ฟอง หรือ 1 ฟอง มีผลต่อขนมแน่นอนค่ะ
    หรือบางสูตรกำหนดน้ำหนักของไข่มาเลย เช่น ใช้ไข่ไก่ 450 กรัม แม้ว่าเราจะสามารถต่อยไข่ใส่ลงไปจนครบ 450 กรัมได้เลย แต่ถ้าเรารู้เบอร์ไข่ น้ำหนักไข่โดยประมาณก็จะช่วยให้เรากะได้ว่าควรจะใช้ไข่เท่าไหร่ กี่ฟอง เพื่อที่ว่าจะไม่เหลือทิ้งให้เสียของกัน

    450/65 จะใช้ไข่เบอร์ 0 ประมาณ 7 ฟอง
    450/60 จะใช้ไข่เบอร์ 1 ประมาณ 7 ½ ฟอง
    450/55 จะใช้ไข่เบอร์ 2 ประมาณ 8 ฟอง
    450/50 จะใช้ไข่เบอร์ 3 ประมาณ 9 ฟอง
    450/45 จะใช้ไข่เบอร์ 4 ประมาณ 10 ฟอง

    อ้าว! แล้วถ้าเรามีไข่ไก่เบอร์ 1 เราจะทำอย่างไรล่ะ 7 ฟองครึ่ง นี่คือต้องทิ้งครึ่งฟองใช่ไหม?
    ตอบ อันนี้แล้วแต่อีกค่ะ ลองชั่งดูก่อนดีกว่า ไข่เบอร์ 1 บางล๊อตใบเล็ก หนักไม่ถึง 60 กรัม สามารถใช้ 8 ฟองได้เหมือนไข่ไก่เบอร์ 2 เลยค่ะ แต่ถ้านางมาใหญ่ 60 กว่าทุกใบ อาจใช้ไข่ไก่เบอร์ 1 เพียง 7 ฟองก็ได้ หรือจะใช้ไข่เบอร์ 1 7 ฟอง + ไข่แดงอย่างเดียว หรือไข่ขาวอย่างเดียว หรือจะตีแบบไข่เจียวแล้วใช้ครึ่งหนึ่งก็ได้อีกเช่นกัน อยู่ที่วิจารณญาณและความต้องการของเราค่ะ การใช้ไข่น้อยกว่าหรือมากกว่าสูตรเล็กน้อยในส่วนผสมที่มากให้ผลที่แตกต่างเพียงเล็กน้อย เช่นหากเราใช้พอดีสูตรก็จะได้เนื้อประมาณหนึ่ง ไข่มากกว่าส่วนผสมก็จะขึ้นฟูมากกว่า ใส่ไข่น้อยกว่าก็จะขึ้นฟูน้อยกว่านิด โครงสร้างก็อาจจะลดลงอีกหน่อย แต่สำหรับมือใหม่ที่กลัวพลาด ก็ใช้ให้ใกล้เคียงกับสูตรกำหนดให้มากที่สุดจะดีกว่าค่ะ

    ด้านบนนั้นสำหรับขนมจำพวกเค้กค่ะ เพราะว่าใช้ไข่ไก่จำนวนมาก หากเป็นพวกบราวนี่ คุกกี้ซึ่งไข่ไก่อาจไม่ใช่ส่วนประกอบหลักเท่าไรนัก เราสามารถใช้เบอร์ไหนก็ได้ค่ะ ผลที่ได้จะไม่ต่างมากนัก (หากว่าขนาดไข่ไก่ไม่ต่างกันมากเช่นเบอร์ 0 กับเบอร์ 4 นั้นน้ำหนักต่างกันมาก ก็ควรจะแปลงเป็นสูตรกรัมก่อนจะดีกว่า)
    ขนมปังบางสูตรก็มีไข่เป็นส่วนประกอบ แต่ขนมปังนั้นถ้าโดเกินแฉะไปก็จะตีไม่เนียน ดังนั้นควรใช้ไข่ไก่ขนาดกลางอย่างเบอร์ 2 และเบอร์ 3 หากสูตรไม่ได้ระบุให้ใช้ขนาดใหญ่ หรือตีแบบไข่เจียวแล้วทยอยเทเอาค่ะ ถ้าปั้นก้อนได้ดีก็พอได้เลย ไม่ต้องเทหมดจนโดแฉะ


    สูตรบางสูตรไม่ได้บอกเบอร์ของไข่ บอกแต่ว่าไข่ไก่ขนาดใหญ่ แล้วต้องใช้เบอร์อะไรนะ?

    ถ้าเป็นตำราไทย ก็ให้ใช้เบอร์ 0 หรือเบอร์ 1

    แต่ตำราต่างประเทศ ใช้แค่เบอร์ 2 หรือเบอร์ 3 ก็พอ เพราะอ่านหลายตำราเค้าจะใช้คำว่า large eggs แต่แปลงหน่วยกรัมเป็น 50 กรัมเท่านั้นเอง ซึ่งก็ตรงกับไข่ไก่เบอร์ 3 บ้านเราเท่านั้น

    ตำราญี่ปุ่นหรือเกาหลีส่วนใหญ่ ก็ใช้ไข่ไก่ขนาดกลางประมาณเบอร์ 2 เบอร์ 3 เช่นกัน แต่ถ้าบางตำราระบุว่าไข่ไก่ขนาดใหญ่ที่หนักฟองละ 60 หรือ 65 กรัม เราก็เลือกใช้ตามที่ตำราบอก

    นอกจากนี้อาจมีบางสูตรที่ระบุเป็นไข่ไก่ที่ชั่งรวมเปลือก เราก็ต้องบวกลบเอานะคะ
    เช่นระบุว่าใช้ไข่ไก่หนักประมาณ 60-65 กรัม รวมเปลือก 10 ฟอง เราก็ต้องดูก่อนว่าไข่ไก่ที่ว่านั้นคือเบอร์อะไร โดยน้ำหนักของเปลือกไข่นั้นจะอยู่ที่ประมาณ 7 กรัม ไม่เกิน 8 กรัม ซึ่งถ้าเราลองลบน้ำหนักเปลือกออกแล้วจะทราบได้ทันทีว่าไข่ไก่ที่หนักรวมเปลือกประมาณ 60-65 กรัมนั้นคือไข่ไก่เบอร์ 1 หรือ เบอร์ 2 เราก็เลือกใช้ให้เหมาะ หรือจะเอามาแปลงน้ำหนักรวมแล้วใช้ไข่ที่เรามีแทนก็ได้

    ถึงตรงนี้มีใครอ่านกันบ้างหรือเปล่าเอ่ย? ใครอ่านจบก็ช่วยคอมเมนต์บอกกันสักนิดนะคะ เพราะบทความนี้ดีหรือห่วยยังไง ผู้เขียนจะได้ปรับปรุงมานำเสนอกันใหม่

     
    ขอให้มีความสุขกับการเรียนรู้ในโลกการทำขนมและอาหารค่า


    Printfriendly