Friday, June 10, 2016

All about Sponge Cake สปันจ์เค้ก (1)

*ยังอัพรูปไม่ได้

สปันจ์เค้กเป็นเนื้อเค้กพื้นฐานสำหรับเค้กทั่วๆ ไป ที่เราน่าจะได้พบบ่อย เช่นเค้กวันเกิดต่างๆ เนื้อเค้กจะนุ่มเนียน มีความเบาปานกลาง นิยมมากในการทำเป็นเค้กก้อนกลม หรือเค้กสี่เหลี่ยม เค้กชิ้นเล็กๆ ที่โรยลูกเกด และอีกหลายๆ รูปแบบ เช่น สตอร์เบอร์รี่ชอร์ตเค้ก แบล็คฟอเรสต์  โรล(บางสูตร) ฯ

สปันจ์เค้ก หรือสปองจ์เค้ก (Sponge Cake) คือชื่อของเค้กชนิดหนึ่งที่อาศัยการขึ้นฟูด้วยวิธีการตีไข่ให้เป็นฟอง โฟม ฟูข้น ที่เรียกว่า Foam Type Cake ที่ได้ชื่อว่าสปันจ์เค้ก หรือสปองจ์เค้ก เพราะมีลักษณะเนื้อขนมคล้ายกับฟองน้ำ (Sponge) มีความนุ่ม ยืดหยุ่นกว่าเค้กเนย (Butter Cake) ที่อาศัยการขึ้นฟูจากเนย ด้วยวิธีการตีครีม (Creaming Method)

 การทำสปันจ์เค้ก แบ่งเป็น 2 ลักษณะ ดังนี้ 

  1. สปันจ์แบบไร้สารเสริม
  2. สปันจ์แบบขั้นตอนเดียว (แบบใช้สารเสริม)


ในสมัยก่อนที่ยังไม่มีพวกสารเสริมต่างๆ จะใช้วิธีการผสมดังนี้ (สปันจ์ไร้สารเสริม – ปัจจุบันยังใช้กันอยู่กับกลุ่มคนที่รักษาสุขภาพ)
  1. ตีไข่+น้ำตาลทราย จนขึ้นฟูขาวข้น หวานมัน (ใช่ไหมเนี่ย) เอาเป็นว่าขาวข้น จนจับตะกร้อยกสูงขึ้นมาแล้วใช้ส่วนผสมวาดเป็นรูปร่างได้ โดยที่ทิ้งร่องรอยแห่งวัยไว้ได้ละกัน (ส่วนใหญ่ทดสอบด้วยวิธีการวาดเป็นเลข 8)
  2. เมื่อไข่และน้ำตาลขึ้นฟูดีแล้ว จึงใส่ส่วนผสมของแป้งที่ร่อนรวมกับของแห้งแล้ว แต่จะแบ่งใส่สลับกับของเหลว ซึ่งอาจจะเป็นน้ำเปล่า นม หรือผลิตภัณฑ์นมประเภทอื่นๆ เช่นโยเกิร์ต บัตเตอร์มิลค์ ฯ (นิยมแบ่งแป้งเป็น 3 ส่วน ของเหลว 2 ส่วน เริ่มจากใส่แป้ง 1 ส่วน ผสมเบาๆ ให้เข้ากันไม่เป็นผงแป้ง จึงเทของเหลวใส่ ผสมเข้า แล้วจึงใส่แป้ง ทำซ้ำสลับกันจนหมดส่วนผสม หรือเรียกกันว่า เริ่มด้วยแป้ง จบด้วยแป้ง)
  3. จากนั้นจึงใส่ไขมันที่อยู่ในรูปของเหลว (น้ำมันพืช หรือเนยละลาย) ตีผสมให้เข้ากันโดยปาดโถตีไปด้วยเพื่อให้ส่วนผสมเข้ากันดี


 ข้อควรระวังในการทำสปันจ์เค้กไร้สารเสริม 

  • การตีไข่กับน้ำตาลให้ขึ้นฟูควรใช้ไข่ไก่สดในอุณหภูมิห้อง หรือไข่ที่ค่อนข้างอุ่น หากใช้ไข่เย็นจะตีขึ้นยากมาก
  • การผสมแป้ง ควรผสมอย่างเบามือ ไม่ตีแรง โดยแบ่งผสมทีละน้อย ผสมด้วยพายยางหรือตะกร้อมือแล้วแต่ถนัด ไม่ผสมนาน เพราะจะทำให้เค้กเหนียวได้
  • หากใช้เนยละลาย ควรใช้ขณะที่ยังอุ่น และผสมกันจนเข้ากันดี หมั่นปาดด้านข้างโถ และก้นโถเพื่อป้องกันเนยนอนก้น ซึ่งเมื่ออบสุกมักพบว่าเค้กเป็นไต*
  • การละลายเนย ควรละลายแค่เนยเหลว ไม่ละลายจนเดือด ซึ่งจะทำให้นมนอนก้นและเป็นก้อน (ตะกอนนม) เพราะจะผสมเข้ากับส่วนผสมได้ไม่ดี ทำให้เกิดเป็นไตเล็กๆ ในเนื้อขนมได้ แต่ถ้าจะละลายจนเนยใส นอนก้น ให้ตักใช้แต่เนยใสๆ ส่วนตะกอนนมให้เททิ้งไป
  • เมื่อผสมเสร็จแล้ว ให้รีบนำเข้าอบทันที ไม่อย่างนั้นเค้กอาจไม่ขึ้นฟูดีเท่าที่ควร และส่วนผสมไขมันจะนอนก้นได้ง่าย ทำให้เค้กมีลักษณะเป็นไต
  • *เค้กเป็นไต คือเค้กที่มีลักษณะก้นหนา เหนียวคล้ายแผ่นยางพารา เกิดจากการคนส่วนผสมของไขมันกับอื่นๆ ไม่เข้ากันดี (ส่วนใหญ่มักเป็นกับเค้กที่ใช้เนยสด)


 เทคนิคการตีไข่แบบไร้สารเสริม 

  • การตีไข่จนขึ้นฟูเป็นฟองละเอียดก่อน จึงค่อยๆ เทน้ำตาลทีละน้อยลงไปขณะตีด้วยความเร็วสูงสุด ตีจนฟูข้น สีจะออกขาวนวลๆ ส่วนผสมมีความคงตัว เมื่อไหลลงมาแล้วจะทิ้งรูปรอยเอาไว้
  • อีกวิธีคือการนำไข่ไปอุ่นก่อน โดยต้มน้ำเกือบเดือด เทใส่ชามใบใหญ่ วางโถไข่บนชามน้ำอุ่น ตีไข่พอไข่อุ่น นำออกมาตีจนเป็นฟองละเอียด จึงทยอยใส่น้ำตาลทรายจนหมด ตีจนข้นขาว
  • น้ำตาลทรายที่ใช้ตีไข่ หากมีความละเอียดมาก หรือมีผลึกเล็ก จะละลายง่ายกว่า และช่วยให้ส่วนผสมเข้ากันได้ดียิ่งขึ้น ทำให้ไข่ตีขึ้นได้ง่าย


 การเตรียมตัวก่อนทำเค้ก 

  • เตรียมอุปกรณ์ให้พร้อม (เตรียมพิมพ์ขนม อุปกรณ์อื่นๆ เช่นโถตี เครื่องผสมหรือตะกร้อมือ พายยางหรือพายซิลิโคน ชามผสม ตราชั่งหรือถ้วยตวง ช้อนตวง สปาตูล่า ตะแกรงสำหรับพักขนม เป็นต้น)
  • เตรียมวัตถุดิบให้พร้อม (ไข่ไก่สดอุณหภูมิห้องสำหรับสูตรไม่ใส่สารเสริมหรือใส่เอสพี ไข่เย็น นมหรือน้ำเย็นสำหรับสูตรที่ใช้โอวาเล็ต)
  • เปิดเตาอบให้ได้อุณหภูมิที่ต้องการก่อนการผสม (ส่วนใหญ่ใช้ 170-180 องศาเซลเซียส หรือประมาณ 325-350 องศาฟาเรนไฮต์)
  • ดี นอกจากไข่สดไม่เย็นแล้ว ควรใช้น้ำตาลทรายเม็ดเล็ก หรือน้ำตาลทรายละเอียด เพื่อให้น้ำตาลละลายได้เร็ว ตีขึ้นได้ง่าย


 การตีสปันจ์เค้กแบบมีสารเสริม นิยมทำ 2 วิธี 

  • การผสมแบบขั้นตอนเดียว คือการใส่ส่วนผสมทั้งหมดในโถตี ยกเว้นไขมัน ตีด้วยความเร็วสูงสุดของเครื่อง จนส่วนผสมฟูข้นขาว (มีปริมาตรเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่า และส่วนผสมสีออกขาว ลักษณะข้นมาก หนืด ไม่หยดย้อยลงไป – ใช้เวลาตีประมาณ 5 นาที) จากนั้นจึงลดความเร็วลงต่ำสุด เพื่อไล่ฟองอากาศประมาณ 1-2 นาที เพื่อให้เนื้อเค้กละเอียดขึ้น สุดท้ายค่อยๆ เทไขมันละลาย ตีด้วยความเร็วต่ำ หมั่นปาดโถบ่อยๆ จนส่วนผสมเข้ากันดี มีลักษณะเนียนเงา ไม่ข้นหนืดหรือเหลวจนเกินไป เมื่อเทจะไหลลงมาไม่ขาดตอน และมีลักษณะคล้ายผ้าพับนุ่มๆ เป็นชั้นๆ (Ribbon Stage – หรือคล้ายริบบิ้น) *การตีสปันจ์ที่มีไขมันมากควรตีแบบนี้ (เช่นบัตเตอร์สปันจ์ จะได้เนื้อนุ่มเนียน แต่ไม่ฟูเบาจนเกินไป)
  • การตีไข่ น้ำตาลทราย เอสพี (หรือโอวาเล็ต) ให้ขึ้นฟูก่อน จึงค่อยใส่แป้ง และของเหลว ตีจนเข้ากันดี จึงลดความเร็วลงต่ำสุด ตีไล่ฟองอากาศ แล้วจึงค่อยๆ ใส่ไขมัน ตีจนเข้ากัน (การตีไข่ น้ำตาล สารเสริม จนขึ้นฟูก่อนใส่แป้งและอื่นๆ นั้น จะช่วยให้ส่วนผสมขึ้นฟูนุ่มมากขึ้น เหมาะกับสปันจ์เค้กที่มีไขมันน้อย หรือสูตรสปันจ์ทั่วไป

 การสังเกตเนื้อเค้ก 

จะเนียนละเอียดที่สุด ดูนุ่ม เบา ความชุ่มฉ่ำจะน้อยกว่าเค้กเนย ความเบาจะน้อยกว่าชิฟฟอน


 การสังเกตสูตรเค้ก 

  • ดูว่ามี เอสพี (SP) หรือ โอวาเล็ต (Ovalett) ในสูตร แสดงว่าเป็นสปันจ์เค้กแน่นอน
  • ดูวิธีผสม จะใช้วิธีการตีไข่กับน้ำตาลทรายให้ขึ้นฟู
  • สปันจ์บางสูตรอาจแยกไข่แดงไข่ขาวออกจากกันเช่นเดียวกับชิฟฟอน แต่ต่างกันที่ชิฟฟอนจะไม่ตีไข่แดงจนขึ้นฟู แต่สปันจ์จะตีไข่แดงให้ขึ้นฟูด้วย


*เสริมนิด เรื่องเอสพี กับโอวาเล็ต 

  • เอสพีเป็นสารเสริมมีลักษณะข้นหนืดออกน้ำตาลอ่อนๆ ใสๆ ใช้กับขนมที่ต้องการการขึ้นฟูด้วยไข่ เช่นปุยฝ้าย สปันจ์เค้ก
  • โอวาเล็ตมีลักษณะข้นหนืด สีออกเหลืองส้ม ใสๆ ใช้สำหรับทำสปันจ์เค้ก


 จากประสบการณ์ส่วนตัว 

เอสพีจะทำให้ขนมขึ้นฟูมากกว่าโอวาเล็ต ส่วนผสมจะข้นกว่า แต่จะชุ่มฉ่ำน้อยกว่า
โอวาเล็ตจะต้องใช้กับไข่เย็นและนมเย็น ไม่อย่างนั้นจะตีไม่ขึ้นค่ะ อาจทำให้เค้กแน่นได้ เนื้อที่ได้จะไม่ฟูเท่าใช้เอสพี แต่จะชุ่มฉ่ำกว่า

นอกจากนี้ยังมีสารเสริมตัวอื่นๆ อีก สำหรับสปันจ์เค้ก แต่ผู้เขียนยังไม่เคยใช้ค่ะ เลยไม่กล้าบอกว่าเป็นเช่นไร แต่ที่นิยมและหาได้ง่ายก็ 2 ตัวนี้เลย เลือกตามความสะดวกซื้อหา และสบายใจที่จะใช้ หรือจะตีแบบไร้สารเสริมก็ได้ไม่ว่ากัน

สำหรับสูตรสปันจ์เค้กขอเป็นลิงค์สูตรส่งต่อไปต้นทางเลยนะคะ เพราะมีหลายสูตร และเห็นว่าสูตรสปันจ์ส่วนใหญ่นั้นคล้ายกันมาก เลือกเป็นสูตรที่นิยม สูตรเด่นสูตรดัง ที่ทำแล้วไม่ค่อยพลาดค่ะ


 Sponge Cake Recipes (สูตรดีๆ ที่อยากบอกต่อ) 



ขอบคุณเจ้าของบล็อกและเว็บไซต์ด้านบน จากใจค่ะ

 




No comments:

Post a Comment

โปรดแสดงความสงสัย...

Printfriendly

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...