เจ้าสลิดนามกระฉ่อน
ขจรหรือคือชื่อเจ้า
สืบเนื่องจากคุณป้าไปกินอาหารนอกบ้านมาเมื่อวานก่อน
เล่าถึงเมนูที่เจ้ามือชอบกิน แต่ทางร้านไม่มี เลยต้องสั่งเมนูอื่นแทน
เมนูที่ว่าคือ “ดอกขจรผัดไข่”
ดอกขจรผัดไข่จากแสงชัยโภชนา |
บอกตรง
ฟุ้งไม่เคยกินค่ะ ดอกขจรน่ะรู้จัก ตอนฟุ้งเด็กๆ ย่าปลูกไว้ เรียกว่า “ดอกสลิด”
เอามาทำแกงส้ม หรือต้มจิ้มน้ำพริก เป็นอีกหนึ่งเมนูโปรดที่ไม่ได้กินบ่อยๆ นัก พอโตมาออกจากรัง
ไม่ได้กินเลยก็ว่าได้ เพิ่งจะได้มาลิ้มรสอีกครั้งไม่กี่เดือนนี่เอง
ป้าถามหาวิธีปลูก
ฟุ้งเองก็ไม่เคยปลูก ตอนย่าปลูกก็ไม่ได้เห็น แต่เดาเอาจากลักษณะลำต้นแล้วน่าจะปักชำได้
หรือไม่ก็น่าจะเมล็ดพันธุ์ขาย แต่ทำไมถึงไม่เคยเห็นเลย...
เลิกเดาสุ่มมาหาข้อมูลกันดีกว่า...วิ่งไปถามอากู๋
ท่านก็ใจดี๊ดี พาไปหาน้าคุณนู้น น้องคนนี้ พี่คนนั้น ได้ข้อมูลมาเยอะแยะ
คราวนี้รู้เลย...ที่ว่าความรู้เท่าหางอึ่งน่ะยังมากไปสำหรับเราเลย
เครดิตภาพ อินเตอร์เน็ต |
ขจรเป็นไม้เลื้อยวงศ์ดอกรัก ใบคล้ายรูปหัวใจ ลำต้นมียางสีขาว ออกดอกเป็นช่อ
ดอกดกในฤดูฝน ออกน้อยในฤดูหนาว ถ้าปล่อยให้ดอกร่วงโรยจะมีฝัก ซึ่งเมื่อฝักแก่
เมล็ดด้านในนำมาใช้เพาะพันธุ์ได้
กลีบดอกหนาเป็นมัน โคนกลีบเชื่อมติดกัน ปลายดอกแยก 5 แฉก ดอกอ่อนสีเขียวอ่อน เมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือสีเหลืองอมส้ม ส่งกลิ่นหอมแรงช่วงกลางคืน
กลีบดอกหนาเป็นมัน โคนกลีบเชื่อมติดกัน ปลายดอกแยก 5 แฉก ดอกอ่อนสีเขียวอ่อน เมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือสีเหลืองอมส้ม ส่งกลิ่นหอมแรงช่วงกลางคืน
ขจรเป็นไม้หอมที่มีการกล่าวถึงในวรรณคดี สามารถนำมาร้อยพวงมาลัยหรือกรองเป็นดอกคล้ายดอกกุหลาบ
นอกจากนี้ยังสามารถปลูกลงกระถางเป็นไม้ประดับเพื่อจรรโลงใจและเป็นสุคนธบำบัดได้
มันไม่ใช่แค่เอาไปทำลวกจิ้ม
แกงส้ม และผัดไข่ ยังเอาไปทำได้สารพัดเมนู เช่น แกงจืดดอกขจร ต้มข่าดอกขจร ไข่เจียวดอกขจร
ไข่ตุ๋นดอกขจร ดอกขจรผัดน้ำมันหอย ดอกขจรผัดปลาหมึก ดอกขจรผัดหมูกรอบ ดอกขจรผัดทูน่า ดอกขจรผัดวุ้นเส้น แกงเลียงดอกขจร ยำดอกขจรกุ้งสด
ลาบดอกขจร ดอกขจรนึ่งกับปลา อ่อมเนื้อดอกขจร ขนมดอกขจร นอกจากดอกแล้ว ฝักขจรอ่อนๆ
สามารถทานสดหรือลวกนำมาจิ้มน้ำพริกกินได้อร่อยยิ่งกว่าดอกขจรเสียอีก โห...เพิ่งจะรู้นะเนี่ยเรา
แต่ละเมนูยั่วน้ำลาย นี่หล่อนไปมุดรูอยู่ไหนมา
เครดิตภาพ อินเตอร์เน็ต |
มาดูเรื่องสรรพคุณทางสมุนไพร
และคุณค่าสารอาหารกันบ้างดีกว่า
ดอกขจร
ยอดใบอ่อนขจร ช่วยบำรุงเลือด บำรุงหัวใจ บำรุงตับและไ มีวิตามินสูง บำรุงสายตา
ดอกขจร
ช่วยรักษาหวัดที่เกิดจากการตากลมหรืออากาศเย็น บรรเทาอาการวิงเวียนศีรษ่ะคลื่นไส้อาเจียน
ขับเสมหะ บำรุงปอด บำรุงฮอร์โมนเพศหญิง ช่วยในการขับถ่าย แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ช่วยให้เจริญอาหาร
แก้ปวดศีรษะ
รากขจรใช้เป็นยาดับพิษ
ถอนพิษ นำมาฝนหยอดตาแก้ตาอักเสบ ตาแดง ตาแฉะ ตามัว
แก่นและเปลือกขจร ใช้เป็นยาบำรุงธาตุในร่างกาย
ส่วนที่ถือกันว่ามีประโยชน์มากที่สุดคือยอดใบอ่อนขจร
กลับมาที่คำถามตั้งต้นของคุณป้าเรื่องวิธีปลูกดีกว่า
พบว่าขจรขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด การชำ การตอน และการทาบกิ่ง
ซึ่งการเพาะเมล็ดนั้นแน่นอนว่าต้องมีเมล็ดขจรเสียก่อน
เมล็ดขจรนั้นอยู่ในฝัก ซึ่งฝักขจรนั้นหายากเพราะติดฝักเป็นฤดู
ช่วงหน้าฝนจะมีดอกเยอะ พอเริ่มเข้าหน้าหนาวดอกที่ออกช่วงนั้นจะติดฝัก
หากจะกินให้กินตอนอ่อน แก่แล้วจะเหนียวและมียาง หากกินไม่ทันปล่อยฝักให้แก่แห้งแตกแล้วเก็บเมล็ดไว้เพาะพันธุ์
ว่ากันว่าเมล็ดขจรนั้นหายาก เมื่อฝักเริ่มแก่ให้รีบหาถุงตาข่ายห่อไว้
เพราะเราไม่รู้ว่าฝักจะแตกเมื่อไหร่
ถ้าฝักแตกเมล็ดจะบินหนีไปหมดเพราะมีปีกเป็นพู่เหมือนเมล็ดหิรัญญิการ์
ฝักอ่อนนำไปรับประทานสดหรือลวกจิ้มน้ำพริก
เครดิตภาพ Pantip.com |
ลักษณะของเมล็ดขจร
เครดิตภาพ Pantip.com |
เมล็ดขจรหุ้มด้วยใยสีขาวคล้ายนุ่น
ส่วนวิธีที่แนะนำและทำได้ง่ายคือการชำ
การชำเถาขจรให้เลือกเถาขจรที่มีสีน้ำตาล ไม่อ่อนและไม่แก่เกินไป เหมาะที่สุดคือมีอายุมากกว่า
1 ปีขึ้นไป ซึ่งจะให้ต้นขจรที่แข็งแรงและออกรากที่ดีขึ้น มีปุ่มตาที่มองเห็นชัดเจน
ถ้าได้เถาขจรที่เลื้อยไปตามพื้นดินยิ่งดี เพราะบริเวณปุ่มตาหรือข้อที่ติดกับพื้นดินจะเกิดราก
ให้นำส่วนนี้ไปปักชำ ช่วงที่เหมาะแก่การปลูกขจรคือช่วงฤดูหนาวประมาณเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม
เพราะช่วงนี้ดอกขรจะออกดอกน้อยมาก ให้ตัดเถาขจรให้มีปุ่มตาหรือข้อติดอยู่สัก 2 - 4
ข้อ โดยจะมีปุ่มตาที่อยู่ในดินและที่โผล่พ้นดินออกมา ส่วนที่อยู่ในดินจะเกิดราก
และส่วนที่โผล่พ้นดินจะเกิดยอดใหม่
ให้เตรียมดินเพาะใส่ถุงพลาสติกใสใบใหญ่ เจาะรูรอบๆ ก้นถุงเพื่อระบายน้ำ ปักเถาขจรลงดินให้ท่วมปุ่มตาส่วนที่ต้องการให้เกิดราก รดน้ำและรัดปากถุงหลวมๆ เพื่อให้อากาศสามารถผ่านเข้าออกได้ วางไว้ในที่ร่ม เปิดปากถุงให้อากาศถ่ายเทสัปดาห์ละ 2 – 3 ครั้ง ประมาณ 3 สัปดาห์จะแตกใบใหม่ประมาณ 3 – 5 ใบ ให้ย้ายขจรที่ปักชำแล้วมาอนุบาลในถุงเพาะ เพื่อเร่งการเจริญเติบโตของรากก่อนปลูกในพื้นที่จริง
เครดิตภาพจาก gotoknow.org |
หากไม่สะดวกกับวิธีเพาะในถุงพลาสติกใบใหญ่
จะนำไปปลูกในถุงเพาะชำก็ได้
และถ้าปุ่มตาของดอกขจรไม่มีรากติดหรือกลัวว่าจะไม่เกิดรากก็นำไปแช่น้ำยาเร่งรากเสียก่อนค่อยนำมาปักในถุงชำไว้ถุงละประมาณ
4 ต้น ป้องกันการไม่ติดของบางเถา ประมาณ 1 สัปดาห์ เถาขจรจะแตกยอดใหม่
ให้นำต้นกล้าขจรมาตากไว้ในร่มรำไร มีแสงรอดผ่านเข้ามาได้สัก 50 %
ประมาณ 3 สัปดาห์ต้นกล้าก็จะมีใบพร้อมที่จะลงหลุมฝัง เอ๊ย! ลงหลุมปลูกต่อไป
การตอนเถาขจร จาก Pantip.com |
การตอนเถาขจร
ใช้ขุยมะพร้าวแช่น้ำไว้ 1 คืน ใส่ถุงพลาสติกมัดหนังยางไว้เพื่อเป็นถุงตอน
เวลาตอนกรีดถุงด้านหนึ่งแล้วนำไปหุ้มตรงข้อของเถาขจร มัดให้แน่น
ให้ตอนข้อเว้นสองข้อ ประมาณ 3 สัปดาห์ก็จะเกิดรากให้เห็น
เครดิตภาพ จากอินเตอร์เน็ต |
การปลูกต้นขจรสามารถปลูกตามแนวรั้ว
ปล่อยให้เลื้อยตามกิ่งไม้ หรือจะทำค้างสำหรับให้เถาเลื้อยก็ตามสะดวก
แต่ควรจะให้โดนแดดมากหน่อย จะออกดอกได้ดีกว่าในที่ร่ม จะปลูกไว้เป็นแหล่งอาหารที่มากคุณค่าทางโภชนาการหรือปลูกเป็นไม้ประดับสวยๆ
ช่วยให้รื่นตาร่มใจก็ดีไม่น้อย
ขจรชอบพื้นที่สูง
น้ำไม่ท่วมขัง ชอบดินที่ระบายน้ำได้ดีโดยเฉพาะดินร่วนปนทราย สามารถทนแล้งได้ดี
ไม่ชอบน้ำมาก แต่หากอยากให้ออกดอกดกก็ขาดน้ำไม่ได้เช่นกัน
หากอยากให้ออกดอกดีให้รดน้ำด้วยวันละครั้งหรือวันเว้นวันในกรณีที่ฝนไม่ตก
ส่งท้ายด้วยชื่อค่ะ นอกจากนามเพราะๆ
อย่างดอกขจร นามระบืออย่างดอกสลิด ยังมีนามพื้นเมืองอีกหลายนาม อย่างเช่น
ผักสลิดคาเลา สลิดป่า กะจอน ขะจอน ผักขิก มีชื่อสามัญว่า Cowslip
creeper ชื่อวิทยาศาสตร์ Telosma
minor Craib และชื่อวงศ์ว่า ASCLEPIADACEAE
ส่วนดอกให้รสเย็นขมหอม รากให้รสเย็นเบื่อ
“ขึ้นลานวัดทัศนาดูอาวาส ศิลาลาดเลียบเดินเนินสิงขร
พฤกษาออกดอกช่ออรชร หอมขจรจำปาสารภี”
นิราศเมืองเพชร :
สุนทรภู่
เอ๊ะ! รู้สึกไหมว่าวันนี้สาระจะมากไปหน่อย
ใครอ่านแล้วปวดหัวเหมือนฟุ้งก็ไปหาดอกขจรมากินแก้ปวดหัวเลยนะคะ
อย่าลืมทำเผื่อด้วยนะ แบบว่าอยากกินแต่ขี้เกียจทำ
ขอขอบคุณสำหรับเจ้าของรูปภาพและข้อมูลทุกท่านมา
ณ ที่นี้ด้วยค่ะ หากตกหล่นท่านใดแนะนำได้นะคะ
สนใจค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
No comments:
Post a Comment
โปรดแสดงความสงสัย...