บัวลอยไข่หวาน ขนมไทยอร่อยดีสีสวย อุดมด้วยคุณค่าจากธรรมชาติ
บัวลอยไข่หวานจากสีสันธรรมชาติล้วนๆ |
เชื่อว่าเมื่อเอ่ยถึงบัวลอยไข่หวาน
หลายคนคงแอบน้ำลายสอเพราะติดใจในรสชาติหวานละมุน กลมกล่อมและหอมเป็นเอกลักษณ์
แต่นอกจากจะหาที่อร่อยจริงๆ ได้ยากแล้ว สาวๆ
และผู้รักสุขภาพทั้งหลายคงกังวลเรื่องน้ำหนักและคอเลสเตอรอลกันอยู่ไม่ได้
คงปฏิเสธไม่ได้ว่าขนมไทยส่วนใหญ่นั้นใช้วัตถุดิบหลักคือแป้ง น้ำตาล
และกะทิเป็นสำคัญ แต่หากสังเกตุให้ดียิ่งขึ้นไปอีก จะพบว่าจริงๆ
แล้วขนมไทยนั้นนอกจากสื่อถึงภูมิปัญญาของปู่ย่าตายายในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่าแล้ว
คุณค่าของสารอาหารในขนมไทยเองก็มีไม่น้อยเลย ไม่ว่าจะเป็นขนมน้ำ ขนมหม้อ
อย่างฟักทองแกงบวด กล้วยบวชชี ถั่วดำแกงบวด เต้าส่วน ลอดช่องน้ำกะทิแตงไทย
ขนมใบตองอย่างขนมกล้วย ขนมแตง ขนมตาล ข้าวต้มมัด และอีกสารพัดเมนู
ไม่เพียงแต่จะมีพืชพรรณธัญญาหารอย่างกล้วย ฟักทอง ถั่วดำ ถั่วเขียว แตงไทย เผือก
มันต่างๆ ตัวน้ำกะทิเองก็เป็นไขมันพืชมากคุณประโยชน์ที่ชาวต่างชาตินั้นนิยมยกย่อง
แต่คนไทยกลับกลัวเกรง
อย่างไรก็ตามน้ำตาลทรายและแป้งก็ยังเป็นศัตรูกับสุขภาพอยู่หากได้รับปริมาณมากจนเกินไป
ดังนั้นการกินอาหารที่ดีที่สุดก็คือรับประทานแต่พอดี
และหากเป็นไปได้เราก็ทำอาหารกินกันเองดีกว่า เพราะตัวเราเองย่อมรู้ว่าอาหารที่เราทำนั้นประกอบด้วยส่วนผสมอะไรบ้าง
จะได้กินแบบยับยั้งชั่งใจ เพียงแต่ไม่ต้องยั้งเรื่องรสชาติ
เพราะปรับรสได้ตามใจปากตัวเอง
ฝันเองก็ชอบกินขนมหวาน โดยเฉพาะขนมไทยนั้นชอบเป็นพิเศษ ชอบทุกอย่าง
เว้นก็แต่ขนมตระกูลทองที่หวานจัดจนกินไม่ไหว บัวลอยไข่หวานก็เช่นกัน
เป็นเมนูพิเศษที่ถ้าไม่อร่อยก็ไม่กินนะ เพราะไหนๆ จะอ้วนทั้งที
อ้วนแบบมีสุขก่อนก็ยังดี แต่บัวลอยไข่หวานเจ้าอร่อยนั้นมีน้อยมาก
จะมีบ้างก็ขายตอนค่ำ ซึ่งไม่ใช่เวลาที่น่าจัดของหนักท้องทั้งยังหนักแคลอรี่เสียอีก
ซื้อไว้กินตอนเช้าก็เสียรสไปแล้ว แถมตอนนี้เลิกขายไปแล้วด้วย ที่มีใกล้บ้าน
ก็ไม่ใช่รสที่ถูกปากถูกใจ ก็เลยลองทำดูบ้าง
ลองผิดลองถูกอยู่นานจนได้แนวทางที่ตัวเองชอบ คือได้รสหวานมันเค็มแบบพอดี รสละมุน
ไม่หวานแหลม ได้กลิ่นหอมอ่อนๆ ของน้ำตาล
ได้รสสัมผัสที่นุ่มหนึบอร่อยกว่าแป้งผสมสีเปล่าๆ แถมมีสีสันสวยงามน่ากิน
แต่กินได้อย่างไม่ตะขิดตะขวงใจเพราะได้สีสวยมาจากธรรมชาติล้วนๆ
หรือถ้าหากจะแต่งสีเสริมบ้างก็แค่เพียงเล็กน้อย ถ้าหากว่าสีที่ได้นั้นอ่อนเกินไป
หรือหาสีที่อยากได้จากธรรมชาติไม่ได้ในตอนนั้น เช่นสีชมพู
แต่ส่วนใหญ่แล้วจะใช้สีจากธรรมชาติมากกว่า
บัวลอยหลากสี ต่างขนาดเพราะหลายมือทำ |
ขนมบัวลอยไข่หวานนั้นสูตรโบราณดั้งเดิมจะใช้เพียงน้ำตาลปี๊บ
จะให้รสที่หวานละมุนกว่าใช้น้ำตาลทราย
แต่ปัจจุปันมีการใช้น้ำตาลทรายแทนเพื่อให้กะทิยังคงมีสีขาวสวยน่ารับประทาน
เรียกว่าบัวลอยกะทิสด แต่รสชาติจะหวานแหลมไม่ละมุนอย่างสูตรโบราณที่ใช้น้ำตาลปี๊บ สำหรับแป้งบัวลอยแต่เดิมจะใช้แป้งข้าวเหนียวเป็นหลักผสมกับแป้งข้าวเจ้าเล็กน้อย
นวดด้วยน้ำอุ่นจัดจนเนียนมือ จึงนำมาปั้น
แต่ปัจจุบันมีการเพิ่มรสชาติด้วยพืชหลายชนิดทำให้ได้รสสัมผัสที่นุ่มละมุนขึ้น
ส่วนตัวแป้งบัวลอยเมื่อปั้นเสร็จแล้วก็ผึ่งให้แห้ง ไม่ต้องผสมแป้งนวล
เพราะปั้นเสร็จก็โยนใส่น้ำกะทิที่ปรุงรสหวานนิดเค็มหน่อยไว้อยู่แล้ว
พอแป้งสุกลอยขึ้น ก็ต่อยไข่ไก่ใส่ลงไป ประมาณ 4 นาทีก็สุกพอดีกิน ตักไข่ออกพักไว้
เวลาจัดเสิร์ฟก็ตักบัวลอยและไข่หวานใส่ถ้วย ราดด้วยหัวกะทิข้นๆ
ที่คั้นแบบไม่ผสมน้ำเลย คนโบร่ำโบราณเค้าทำกินกันร้อนๆ
จึงได้บัวลอยรสชาติหอมหวานอร่อย สำหรับเรานั้นแม้ว่าจะชอบวิถีการกินแบบโบราณ
แต่ด้วยวิถีชีวิตแบบที่แตกต่าง
จึงคิดว่าทำแบบประยุกต์นั้นจะเหมาะกับครอบครัวเรายิ่งกว่า
เพราะลูกกลับจากโรงเรียนก็เวลาหนึ่ง พ่อบ้านกลับบ้านก็อีกเวลาหนึ่ง
พ่อแม่สามีนึกอยากกินขึ้นมาก็อีกเวลาหนึ่ง ไม่ได้กินพร้อมหน้ากันอย่างคนโบร่ำโบราณ
ผู้เขียนจึงต้องปรับให้สามารถรับประทานได้อร่อยทุกๆ เวลาค่ะ
วัตถุดิบหลักที่ทำให้แป้งบัวลอยอร่อยนุ่ม ไม่แข็ง แล้วยังได้ประโยชน์ |
มาดูสูตรแป้งบัวลอยกันนะคะ ทั้งนี้ต้องขอบคุณครัวบ้านพิมค่ะ
เพราะฝันได้สูตรแป้งบัวลอยมาจากที่นี่ จากนั้นก็อาจจะมีปรับบ้างเล็กน้อยตามประสบการณ์และการทดลองทำหลายๆ
ครั้งค่ะ ส่วนน้ำกะทิก็ปรับเอาจากหลายๆ สูตรที่ได้ลองอ่าน ลองทำดูค่ะ
ต้องขอบคุณเจ้าของสูตรทุกสูตรเลยทั้งจากหนังสือ
นิตยสารและผู้เผยแพร่สูตรทางอินเตอร์เน็ต ปกติน้ำกะทินั้นฝันไม่มีสูตรตายตัว
อาศัยชิมรสชาติเอา มันกะทินำ หวานตาม เค็มปะแล่มๆ สักหน่อย ก็ใช้ได้แล้ว
แต่วันนี้ก็ลองจดสูตรดูสักหน่อยค่ะ แต่เพราะทำปริมาณมากเพราะทำเลี้ยงงานบุญ
สูตรที่ลงไว้จึงขอลดทอนจากสูตรที่ทำนะคะ
ใช้สีจากธรรมชาติตามนี้ค่ะ
- สีเขียวได้จากน้ำใบเตยคั้นข้นๆ
- สีน้ำเงิน สีครามได้จากน้ำดอกอัญชัน
- สีม่วง ได้จากน้ำดอกอัญชันผสมน้ำมะนาวหรือมันเทศสีม่วงนึ่งสุก
- สีส้ม ได้จากแครอทนึ่งสุก หรือมันเทศแครอทนึ่งสุก
- สีเหลืองได้จากฟักทองนึ่งสุก
- สีเหลืองอ่อนได้จากมันเทศสีเหลืองนึ่งสุก
- สีขาวนวลๆ ได้จากเผือกนึ่งสุก
สีอื่นๆ ที่อยากลอง
แต่ฝันเองยังไม่ได้ลองเพราะยังหาวัตถุดิบไม่ได้คือสีชมพูค่ะ อาจได้จากหัวบีต
(ใช้ปริมาณไม่มาก อาจผสมกับเผือกเพื่อลดความเข้มของสี
หรือจะใช้ทั้งหมดสำหรับสีสดๆ), ดอกเฟื่องฟ้า, ดอกกุหลาบ,
ดอกเข็ม เป็นต้น
แป้งบัวลอยที่ใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ ผสมสีเพียงเล็กน้อย (เฉพาะสีชมพู และสีเขียวมิ้นต์) |
สัดส่วนแป้งและเผือกหรือมัน ดังนี้ค่ะ
แป้งข้าวเหนียว 100 กรัม
แป้งมัน 10 กรัม (หรือสัก 1 ช้อนแกง ไม่พูนค่ะ)
ของนึ่ง เช่น เผือกนึ่ง ฟักทองนึ่ง มันเทศนึ่ง แครอทนึ่ง 150 กรัม สำหรับมันฝรั่งนึ่งใช้ 100 กรัม และไม่ต้องใส่แป้งมัน (ชอบสูตรนี้ตรงนี้ค่ะ วัตถุดิบเหล่านี้มากกว่าแป้งเสียอีก)
น้ำเปล่า 0 – 7 ช้อนโต๊ะ*
แป้งมัน 10 กรัม (หรือสัก 1 ช้อนแกง ไม่พูนค่ะ)
ของนึ่ง เช่น เผือกนึ่ง ฟักทองนึ่ง มันเทศนึ่ง แครอทนึ่ง 150 กรัม สำหรับมันฝรั่งนึ่งใช้ 100 กรัม และไม่ต้องใส่แป้งมัน (ชอบสูตรนี้ตรงนี้ค่ะ วัตถุดิบเหล่านี้มากกว่าแป้งเสียอีก)
น้ำเปล่า 0 – 7 ช้อนโต๊ะ*
ตัวอย่างการผสมสี และนวดแป้งสำหรับปั้นบัวลอย |
- ผสมทุกอย่างให้เข้ากัน
นวดจนเนียน นุ่มไม่ติดมือ
- จากนั้นก็ปั้นแป้งเป็นลูกกลมๆ
ขนาดประมาณสาคูเม็ดโต วางผึ่งไว้ให้แห้ง ถ้าหากจะทำกินทันที
แต่หากจะปั้นเก็บไว้ก็ไม่ต้องผึ่งแป้ง แต่ให้โรยแป้งนวลไว้กันแป้งติดกันด้วย
- หากจะเก็บไว้ทำวันหลัง
ก็ใส่ถุงมัดปากไว้ เก็บไว้ได้นาน 2-3 วัน
หรือเก็บใส่ช่องแข็งไว้ได้นานหลายเดือน
เมื่อจะใช้ก็นำมาวางไว้ในช่องธรรมดาสัก 1 คืน หรือ 1วัน
*น้ำเปล่าทยอยใส่นะคะ วัตถุดิบบางอย่างอาจไม่ต้องใส่น้ำเลย
เช่นฟักทอง แครอท เมื่อนึ่งแล้วจะมีน้ำมาก ทดลองผสมเข้ากันก่อน ถ้าแห้งไปจึงค่อยๆ
เติมน้ำค่ะ แป้งจะได้ไม่แฉะจนเกินไป แต่หากว่าผสมแล้วแป้งแฉะ ก็ค่อยๆ
ใส่แป้งข้าวเหนียวเพิ่มได้
ฟักทองญี่ปุ่น เนื้อสีเหลืองทำแป้งสีเหลือง เปลือกสีเขียวทำแป้งสีเขียวได้อีก |
สำหรับสีเขียวจากใบเตยหรือสีม่วง
สีน้ำเงินจากอัญชันนั้น จะผสมกับแป้งแทนน้ำเปล่าเลยก็ได้
แต่ฝันว่ารสสัมผัสนั้นจะสู้แบบผสมมันหรือเผือกไม่ได้ สีม่วงหรือสีฟ้า แนะนำให้ผสมกับเผือกนึ่งค่ะ
หรือถ้ามีมันเทศสีม่วง ก็ใช้แทนได้เลย ไม่ต้องผสมสีเพิ่ม
เพราะสีที่ได้จากมันเทศสีม่วงนั้นเข้มมากอยู่แล้ว
ส่วนสีเขียวอาจจะใช้เผือกซึ่งมีสีอ่อน หรือใช้วัตถุดิบที่มีสีเหลืองอ่อนๆ
อย่างมันเทศสีเหลืองอ่อนๆ หรือมันฝรั่งก็ได้ค่ะ แต่ที่แนะนำเลยก็คือเปลือกฟักทองญี่ปุ่นค่ะ
ใช้เนื้อสีเหลืองๆ ทำเป็นแป้งบัวลอยสีเหลืองแล้วเปลือกก็อย่าทิ้ง
นึ่งไปพร้อมกันนั่นแหละค่ะ นำมาผสมกับน้ำใบเตย
ได้สีเขียวสวยแล้วก็ยังได้รสอร่อยจากเปลือกฟักทองญี่ปุ่นด้วย
แป้งปั้นบัวลอยหลากสี คลุกแป้งนวลเพื่อไม่ให้ติดกัน |
มาปั้นแป้งบัวลอยกันก่อนนะคะ
ฝันทดลองปั้นแป้งบัวลอยแบบข้าวเหนียวล้วนๆ แล้ว ลองแบบผสมแป้งมันเล็กน้อยแล้ว
แต่ยังไม่เคยลองแบบผสมแป้งข้าวเจ้านิดหน่อยดูเลยค่ะ เลยไม่รู้ว่าแบบไหนจะอร่อยกว่า
เคยอ่านในอินเตอร์เน็ตเห็นบางท่านว่าใช้แป้งข้าวเหนียวล้วนนั้นอร่อยกว่าผสมแป้งมัน
ฝันก็ลองดูทั้งสองแบบแล้วนะคะ แบบผสมแป้งมันเล็กน้อยนั้นปั้นง่ายกว่า
ส่วนรสชาตินั้น ยังไม่เห็นความแตกต่างค่ะ แต่ที่เห็นชัดคือ
แป้งข้าวเหนียวที่ผสมสีอย่างเดียว ไม่ว่าจะสีผสมอาหาร
หรือสีจากธรรมชาติอย่างดอกอัญชันหรือใบเตย กับแป้งข้าวเหนียวที่ผสมส่วนผสมจากธรรมชาติเช่นฟักทอง
เผือก มันนั้นรสชาติต่างกันมากค่ะ แบบหลังอร่อยกว่ามากมายเพราะนุ่มลิ้นกว่า
มีคุณค่ามากกว่าด้วย แถมปั้นง่ายกว่าด้วยนะคะ
เพราะแป้งจะไม่ร่วนเหมือนแป้งข้าวเหนียวล้วน
(คิดว่าถ้าใช้แป้งข้าวเหนียวล้วนต้องผสมน้ำอุ่นจัดถึงจะปั้นง่าย แต่ไม่แน่ใจว่ารสชาติจะดีขึ้นไหม
แต่ว่าติดไว้ก่อนนะคะ คราวหน้าต้องลองแน่ๆ ค่ะ)
แป้งบัวลอยปั้นเสร็จแล้วเก็บใส่ถุงแช่ตู้เย็น หรือแช่แข็งเก็บไว้ใช้ได้นาน |
เมื่อได้แป้งแล้วก็หันมาทำน้ำเชื่อมและไข่หวานค่ะ
ทำน้ำเชื่อมด้วย
น้ำเปล่า 1
ถ้วยตวงของเหลว (ประมาณ 200 กรัม)
น้ำตาลทราย 1 + 1/2 ถ้วยตวงของแห้ง (ประมาณ 200 + 100 กรัม)
- เทน้ำตาลทราย 1 ถ้วยในหม้อหรือกระทะทองเหลือง ตามด้วยน้ำเปล่า ตั้งไฟให้น้ำตาลละลาย จากนั้นแบ่งน้ำเชื่อมไว้ครึ่งหนึ่งสำหรับแช่แป้งบัวลอยที่ต้มสุกแล้ว ส่วนที่เหลือหยดน้ำส้มสายชูลงไปเล็กน้อย (ไม่ใส่ก็ได้ ใส่เพื่อให้ไข่หวานเป็นตัวสวยงามขึ้นเท่านั้น)
- จากนั้น เติมน้ำตาลอีก 1/2 ถ้วยตวง หรี่ไฟลงเล็กน้อย เคี่ยวจนน้ำตาลละลาย ต่อยไข่ไก่ใส่ลงไปทีละฟอง เมื่อไข่สุก (มากน้อยตามต้องการ) ก็ตักขึ้น พักไว้
ต้มไข่หวานในน้ำเชื่อมหรือน้ำกะทิ |
เคล็ดไม่ลับการทำไข่หวาน
- ไข่หวานควรเลือกใช้ไข่ใหม่ ไข่ขาวจะมีลักษณะเป็นวุ้น ไม่กระจายตัว ทำไข่หวานแล้วจะเป็นตัวสวย
- ไข่หวาน หากอยากให้มีสีขาวน่ากิน และไข่ขาวเกาะตัวกันดี เติมน้ำส้มสายชูหรือน้ำมะนาวเล็กน้อยลงในน้ำเชื่อมก่อนใส่ไข่ค่ะ
- ไข่หวาน หากใช้ไข่ไก่สามารถนำไปใส่ในน้ำเชื่อมหรือน้ำกะทิได้เลย แต่หากใช้ไข่เป็ดให้ทำแยกหม้อกับกะทิหรือแป้งบัวลอย และทุบขิงแก่ใส่ไปในน้ำเชื่อมด้วยเพื่อไม่ให้เหม็นคาวไข่
น้ำเชื่อมที่เหลือนี้หากจะต้มบัวลอยใส่เลยก็ได้นะคะ
แต่ควรเติมน้ำลงไปเพื่อลดความหวานลง จากนั้นเทเม็ดแป้งบัวลอยใส่ลงไป
เมื่อเม็ดแป้งบัวลอยลอยขึ้นแสดงว่าสุกแล้ว ก็ดับไฟแล้วไปทำส่วนกะทิกันต่อ
แต่ฝันชอบต้มแป้งบัวลอยในน้ำเปล่ามากกว่า
เพราะเสียดายน้ำเชื่อมค่ะ
ถ้าต้มแป้งบัวลอยในน้ำเชื่อมแล้วจะทำให้น้ำเชื่อมมีสีเข้มขึ้น ดูไม่สวย
เพราะว่าบัวลอยของเรามีสีเข้มๆ อย่างสีม่วง สีน้ำเงินด้วย
เม็ดบัวลอยเตรียมลงต้ม ร่อนเอาแป้งนวลออกเสียก่อน หรือจะล้างน้ำออกก็ได้แต่ต้องรีบนำลงหม้อน้ำเดือด |
เทเม็ดบัวลอยลงหม้อน้ำเดือดจัด เม็ดบัวจะจมลง อาจใช้ตะแกรงหรือทัพพีช่วยเขี่ยให้เม็ดบัวลอยไม่ติดกัน |
เม็ดแป้งบัวลอยที่สุกจะค่อยๆ ลอยขึ้นมา |
บัวลอยหลากสีสันลอยเต็มหม้อ |
ใช้กระชอนหรือตะแกรงช้อนเม็ดบัวลอยขึ้นมาพักในน้ำเย็น แล้วตักขึ้นใส่หม้อน้ำเชื่อมหรือน้ำกะทิที่เตรียมไว้ |
การต้มในน้ำเปล่าก็ง่ายๆ เลยค่ะ ต้มน้ำให้เดือด
จากนั้นก็ใส่เม็ดบัวลอยลงไปต้ม เมื่อสุกลอยก็ช้อนออก พักไว้ในน้ำเย็นก่อน
จากนั้นค่อยตักใส่น้ำเชื่อมไว้ แล้วหันไปทำน้ำกะทิกัน
น้ำกะทิบัวลอยหรือน้ำกะทิไข่หวาน ข้นๆ หวานมันเค็ม |
สูตรน้ำกะทิบัวลอย
หางกะทิประมาณ 400 กรัม (หรือหัวกะทิ 1 กล่อง 250 กรัม + น้ำเปล่าประมาณ 1/2 ถ้วยตวง)
น้ำตาลปี๊บ 80 กรัม
น้ำตาลทราย 50 กรัม
เกลือป่น 5-10 กรัม* ทยอยใส่
เพราะเกลือป่นมีความเค็มไม่เท่ากัน
หัวกะทิ 500 กรัม- ตั้งไฟเคี่ยวจนน้ำตาลละลาย หางกะทิเดือด
หมั่นคนอย่าให้กะทิแตกมัน ปิดเตา
- หม้ออีกใบใส่หัวกะทิ 500 กรัม ตั้งไฟจนกะทิเดือด หมั่นคนไม่ให้กะทิแตกมัน พอเดือดนำไปเทใส่ส่วนของหางกะทิ คนให้เข้ากัน (ถ้าอยากให้เก็บไว้ได้นานขึ้น เปิดไฟ คนจนเดือดอีกครั้ง)
การจัดเสิร์ฟ
ตักบัวลอยและไข่หวานโดยใช้ทัพพีแบบมีรู
จะได้ติดน้ำเชื่อมไม่มาก แล้วราดด้วยน้ำกะทิ หากใครชอบหวาน
จะตักน้ำเชื่อมใส่เพิ่มก็ตามสะดวกเลยค่ะ ใครชอบหวานน้อย ชอบมันๆ เค็มนิดๆ
ก็ใส่กะทิเยอะหน่อย หากมีเครื่องอย่างเผือก ข้าวโพด มะพร้าวอ่อน หรือมะพร้าวกะทิ ก็ตักใส่ไปด้วยกัน เพิ่มรสชาติความอร่อยได้อีก
บัวลอยไข่หวานเพิ่มเผือกนึ่งหั่นเต๋า |
บัวลอยไข่หวานใส่ข้าวโพด สีสันจากธรรมชาติ |
เคล็ดไม่ลับแป้งบัวลอยและน้ำกะทิ
- แป้งบัวลอยที่มีส่วนผสมของแป้งและสีจากธรรมชาติมากจะให้รสชาติและคุณค่าทางโภชนาการที่ดีกว่าแป้งผสมกับสีอย่างเดียว
แต่ต้องผสมให้ได้สัดส่วนที่สมดุล เพื่อจะได้สามารถปั้นเป็นก้อนกลมได้ง่าย
- อาจผสมแป้งมันหรือแป้งข้าวเจ้าลงไปเล็กน้อย
เพื่อให้ปั้นได้ง่ายขึ้น แต่หากชอบรสของแป้งข้าวเหนียวล้วนๆ ก็ทำได้เช่นกัน
โดยอาจเพิ่มน้ำอีกเล็กน้อย
- พืชผักบางชนิดเมื่อนำไปนึ่งจะมีปริมาณน้ำอยู่ในตัว
ดังนั้นหากไม่มั่นใจให้นวดกับแป้งไปก่อน ถ้าแห้งไปจึงค่อยๆ เติมน้ำลงไปทีละ 1 ช้อนโต๊ะ
- หากแป้งบัวลอยมีแป้งนวลติดมาก
ให้นำไปใส่ตะแกรงหรือกระชอนเพื่อสะบัดแป้งนวลที่ติดออก
หรือจะล้างน้ำผ่านก๊อกแล้วรีบเทลงหม้อต้มแล้วคนเร็วๆ ให้แป้งกระจายตัว
ไม่ติดกัน
- เมื่อแป้งบัวลอยสุกแล้วแป้งจะลอยขึ้นมา
หากต้องการให้แป้งอยู่ตัวดี ไม่ดูดน้ำหวานมากจนเกินไป
ให้ตักขึ้นแช่อ่างน้ำเย็นไว้
- หากอยากให้สีของน้ำบัวลอยขาวสวย
ใช้น้ำตาลทรายขาวแทนส่วนน้ำตาลปี๊บทั้งหมด
แต่ให้ลดปริมาณลงครึ่งหนึ่งก่อนเพราะน้ำตาลทรายมีความหวานที่มากกว่าน้ำตาลปี๊บ
จากนั้นจึงชิมรส แล้วค่อยๆ เติมเพิ่มตามชอบ จะได้น้ำกะทิสีขาวสวย
แต่อาจขาดกลิ่นและรสเฉพาะที่มีในน้ำตาลปี๊บ
- น้ำตาลปี๊บหรือน้ำตาลปึกก็ใช้ได้เช่นเดียวกัน
แต่ควรเลือกสีอ่อนหน่อย เพื่อไม่ให้น้ำกะทิมีสีออกน้ำตาลจนเกินไป
ส่วนใหญ่จะใช้น้ำตาลมะพร้าว ซึ่งมีสีอ่อนกว่าน้ำตาลโตนด
- ปัจจุบันมีน้ำตาลโตนดผงขาย
ให้กลิ่นรสหอมหวานเฉพาะตัวและมีสีที่อ่อนกว่าน้ำตาลปี๊บ ถ้าเอามาใช้แทนน้ำตาลทรายก็อาจให้รสชาติอร่อยแตกต่างไปอีกแบบ
แต่ราคาก็ค่อนข้างสูงพอสมควร
- หากต้องการกลิ่นหอมอ่อนๆ
อาจใช้น้ำลอยดอกมะลิหรือน้ำดอกไม้สดคั้นกะทิแทนน้ำเปล่าได้เช่นกัน
- ทำหัวกะทิไว้ราดหน้าขนมจะเพิ่มความหอมมันและความน่ารับประทานได้
- บัวลอยเป็นขนมที่ประยุกต์ทำได้หลายอย่าง
จะทำสีเดียว สามสี หรือห้าสี
หรือจะเพิ่มเครื่องกลายเป็นบัวลอยทรงเครื่องก็ได้ โดยใส่เผือกหั่นเต๋าต้มสุก
ข้าวโพดหวานต้มสุก มะพร้าวอ่อน มะพร้าวกะทิ หรือมะพร้าวเผาก็ได้
No comments:
Post a Comment
โปรดแสดงความสงสัย...